สำนักงานเกษตรอำเภอนครไทย ลงพื้นที่ติดตามการระบาดของหนอนเจาะลำต้นทุเรียน พร้อมให้คำแนะนำเกษตรกรในการป้องกันกำจัดอย่างถูกวิธี

วันที่ 2 พฤษภาคม 2568 — นางสาวปานทิพย์ วงษ์แก้ว เกษตรอำเภอนครไทย มอบหมายให้นางสาวสุนีย์ นาคานุกูล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ ลงพื้นที่ติดตามและให้คำแนะนำแก่เกษตรกรกรณีพบการระบาดของหนอนเจาะลำต้นทุเรียน ณ แปลงของนายสัมพันธ์ ชื่นกลิ่น หมู่ที่ 3 บ้านถ้ำพริก ตำบลบ้านแยง  อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบเบื้องต้น พบต้นทุเรียนจำนวน 3 ต้น ที่ได้รับความเสียหายจากการเข้าทำลายของหนอนเจาะลำต้น จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 14 ไร่ โดยเกษตรกรได้ดำเนินการป้องกันกำจัดเบื้องต้นด้วยการถากส่วนที่ถูกทำลายออก ทาด้วยปูนขาว และพ่นสารเคมีป้องกันกำจัด

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่เกษตรตำบลได้แนะนำวิธีการควบคุมและป้องกันการระบาดเพิ่มเติมอย่างถูกวิธี โดยให้เกษตรกรหมั่น สำรวจแปลงเป็นประจำ สังเกตร่องรอยการวางไข่หรือขุยไม้จากการทำลาย หากพบควรใช้มีดถากเปลือกต้นออกเพื่อจับตัวหนอนและไข่มาทำลาย นอกจากนี้ ยังแนะนำให้กำจัดตัวเต็มวัยของด้วงหนวดยาวซึ่งเป็นพาหะของหนอนเจาะลำต้น โดยใช้แสงไฟล่อในเวลากลางคืน หรือพันตาข่ายตาถี่หลวมๆ รอบโคนต้นเพื่อดักจับ

หากพบการระบาดรุนแรง แนะนำให้ใช้สารเคมีตามคำแนะนำของกรมวิชาการเกษตร เช่น

  • ไทอะมีโทแซม/แลมป์ดาไซฮาโลทริน 14.1% /10.6% ZC อัตรา 40 มล./น้ำ 20 ลิตร
  • คลอไทอะนิดิน 16% SG อัตรา 20 กรัม/น้ำ 20 ลิตร
  • อิมิดาโคลพริด 10% SL อัตรา 30 มล./น้ำ 20 ลิตร
  • อะเซททามิพริด 20% SP อัตรา 30 กรัม/น้ำ 20 ลิตร

โดยใช้ อัตราน้ำ 5 ลิตรต่อต้น พ่นเฉพาะบริเวณลำต้นและกิ่งขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นบริเวณที่ด้วงชอบวางไข่ พ่น 2 ครั้งห่างกัน 14 วัน และในพื้นที่ที่มีการระบาดหนัก ควรพ่นสารเคมีทุก 3 เดือน พร้อมแนะนำให้ ตัดต้นที่ถูกทำลายอย่างรุนแรงและเผาทำลาย เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดสู่ต้นอื่น

สำนักงานเกษตรอำเภอนครไทย ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ติดตามแปลงของตนเองอย่างใกล้ชิด และหากพบปัญหาหรือสงสัยเกี่ยวกับการระบาดของศัตรูพืช สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่
สำนักงานเกษตรอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก โทร. 055-389089

Leave a Comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *